องค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งคล้า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ : www.abtbungkla.go.th

 
 
ประวัติและความเป็นมา

 



         หมู่บ้านของชุมชนแห่งนี้ มีลักษณะเป็นกลุ่มหรือเป็นคุ้มได้แก่ คุ้มบ้านนอก-หนองสามพัน คุ้มบ้านโนนสะแบง คุ้มตะวันออก คุ้มบ้านน้อยหนองไผ่ คุ้มบ้านใต้ คุ้มบ้านโนนฝาย และคุ้มบ้านโนนหัวนา-เกาะแก้ว คุ้มต่างๆ มีครัวเรือนอยู่กันอย่างหนาแน่น ซึ่งส่วนมากจะเป็นเครือญาติกันที่ชาวบ้านพูดกันว่า “มีผีเชื้อเดียวกัน” ประชากรมีแหล่งน้ำสำหรับใช้ดื่มและใช้สอยต่างๆ โดยอาศัยน้ำในลำห้วยบุ่งคล้า ห้วยเกาะแก้ว หนองสามพัน กุดแหลมและลำชีลอง ลักษณะพื้นที่ทั่วไปเป็นที่สูงเป็นสันโนนน้ำท่วมไม่ถึง ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นที่ปลูกบ้านเรือนห่างออกไปทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ของหมู่บ้านเป็นที่ราบเหมาะสำหรับทำนา ทำไร่และทำสวน บางแห่งก็เป็นห้วยหนองคลองบึงชาวบ้านได้อาศัยสำหรับทำมาหาเลี้ยงชีพจากพื้นที่ดินดังกล่าวมาแต่บรรพบุรุษ หนองสามพันลำห้วยบุ่งคล้า ก็มีชาวบ้านมาอาศัยทำสวน ทำไร่ ปลูกพืชล้มลุกบ้าง ปลูกไม้ยืนต้นบ้าง ที่ฝั่งหรือริมหนองและลำห้วยบางแห่งที่สูงๆ ชาวบ้านก็อาศัยปลูกบ้านเรือน เช่น คุ้มบ้านใต้ คุ้มบ้านโนนฝาย เป็นต้น

         ตามประวัติคำบอกเล่าเดิมแรกนั้นที่ดินแห่งนี้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชนชาติลาวโบราณมาก่อน เข้าใจว่าคงจะมีกลุ่มชนมาตั้งบ้านเรือนพร้อมกับกลุ่มชนที่ตั้งบ้าน “กุดโง้ง” หรือพร้อมกับตั้งเมืองหามหอก เพราะมีหลักฐานหลายอย่างให้เห็น เช่น บ้านกุดโง้งก็มีใบเสมาหินขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ส่วนเมืองหามหอก ที่บ้านไร่ อำเภอบ้านเขว้า ก็มีหลักฐานปรากฏอยู่ให้เห็น เช่น คูเมืองเป็นแนวดินสูงยาวหลายสิบเส้น และ มีคลองล้อมรอบอีกด้วย ส่วนที่เป็นบุ่งคล้าก็มีหลักฐานว่า น่าจะเคยเป็นบ้านเมืองคนโบราณมาก่อน แต่กลุ่มชนเหล่านั้นได้อพยพย้ายบ้านย้ายเมืองไปอยู่ที่อื่นเพราะภัยสงคราม หลักฐานต่างๆ ที่ว่า คือ เศษอิฐ เศษกระเบื้อง และเศษโลหะเป็นจำนวนมากที่พบเห็นอยู่ คือ ที่บริเวณบ้านพ่อทายกอ่วงและแถวบริเวณที่สร้างเมรุ กับที่พบเห็นที่บริเวณสวนเอกชนคุ้มบ้านโนนฝาย จึงทำให้เข้าใจว่าที่ที่ตั้งบ้านบุ่งคล้าปัจจุบันนี้เคยเป็นที่สร้างบ้านสร้างเมืองของคนโบราณมาก่อนแล้ว

        ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีการสงครามใหญ่และสงครามย่อมก็มีอยู่เสมอเพราะชาติไทยกำลังรวบรวมกำลังคนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญหลักในการสร้างบ้าน สร้างเมือง การกวาดต้อนผู้คนที่เป็นเชลยไปเป็นของตนก็เป็นธรรมดาของผู้ชนะสงคราม โดยเฉพาะผู้คนในภาคอีสานที่เป็นคนพูดลาว ที่ได้ตั้งเมืองอยู่ทางทิศตะวันตกของภาคอีสาน เช่น เมืองหนองบัวลำภู เมืองภูเวียง เมืองพระไกรสีหนาท (เมืองภูเขียว) เมืองชนบท เมืองชัยภูมิ ลงไปถึงเมืองนครราชสีมาบางส่วน เช่น อำเภอโนนลาว อำเภอสีคิ้ว ไปถึงเมืองสระบุรีบางส่วน บรรพบุรุษของคนในอำเภอและจังหวัดดังกล่าวล้วนแต่เป็นคนลาวอพยพหรือถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทร์ทั้งนั้น
กลุ่มชนผู้เป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านบุ่งคล้าที่ได้อพยพย้ายบ้านย้ายเมืองมาตั้งบ้านบุ่งคล้าแห่งนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 มาตั้งบ้านบุ่งคล้าก่อน ส่วนกลุ่มชนที่ 2 มาเข้าร่วมทีหลัง กลุ่มชนทั้ง 2 กลุ่มได้อพยพมาพร้อมกับนายแล

        เมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแห่งราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ประเทศลาวมีเมืองเวียงจันทน์ คือ กรุงศรีสัตนาคนหุตเป็นเมืองหลวงประมาณ พ.ศ. 2535 มีคนลาวคนหนึ่งชื่อว่านายแลเป็นเชื้อพระวงศ์เจ้าเมืองเวียงจันทน์ เป็นคนเฉลียวฉลาดมีความรู้ดีและมีความสามารถสูง ได้พิจารณาเห็นว่าภูมิประเทศภาคอีสานแห่งกรุงสยามในสมัยนั้นเป็นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะที่จะสร้างบ้านสร้างเมืองและอยู่ในขอบเขตขันธสีมาของพระเจ้ากรุงสยาม จึงกราบลาพระเจ้าอนุวงศ์ซึ่งเป็นเจ้าครองประเทศลาว พร้อมด้วยครอบครัวคนลาวที่สมัครใจที่จะไปอยู่ที่อื่นด้วย ได้อพยพครอบครัวข้ามแม่น้ำโขงผ่านมาทางเมืองหนองบัวลำภู มีอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองกาบแก้วบัวบาน และได้ชักชวนครอบครัวคนลาวที่ได้อพยพเข้ามาอยู่ก่อนแล้ว พาอพยพมาเป็นแรมเดือนแรมปี ผ่านเมืองภูเวียง เมืองพระไกรสีหนาท (ภูเขียว) เดินทางผ่านลงไปทางทิศใต้ขึ้นเขาลงเหว โดยยกเป็นขบวนคาราวานเป็นจำนวนไม่น้อยครอบครัว ในระหว่างที่เดินมาถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำชี ครอบครัวลาวบางส่วนก็ได้แยกไปตั้งบ้านเรือนเป็นหมู่บ้านหลายหมู่บ้านขึ้น เมื่อประมาณปี 2535 ส่วนนายแลพร้อมครอบครัวคนลาวอีกส่วนหนึ่งได้อพยพเดินทางไปทางทิศใต้จนถึงเมืองนครราชสีมา ได้ตั้งบ้านเมืองขึ้นเป็นหมู่บ้านหลายแห่งในหลายอำเภอของเมืองนครราชสีมา เช่น บ้านนารายณ์ บ้านชิน ในเขตอำเภอโนนลาว (ปัจจุบันคืออำเภอโนนไทย)

       ชุมชนที่ 1 ที่อพยพย้ายครอบครัวมาพร้อมกับนายแล เมื่อปี พ.ศ. 2535 ครั้งนั้น กลุ่มชนกลุ่มนี้ได้ย้ายครอบครัวมาจากบ้านเดิมชื่อว่า “บ้านบุ่งคล้า – นาโพธิ์” ซึ่งอยู่ในเขตเมืองหนองบัวลุ่มภูหรือเมืองกาบบัวบาน (อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี) ในปัจจุบันนี้ ชนกลุ่มนี้ได้พบเห็นชัยภูมิอันอุดมสมบูรณ์ดีซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านบุ่งคล้าเดี๋ยวนี้ มีลำห้วยไหลผ่าน มีหนองสามพันอยู่ใกล้ๆ เหมาะสมที่จะตั้งบ้านอยู่จะได้ประกอบการทำมาหากินเป็นหลักเป็นฐานได้เป็นอย่างดี จึงได้พร้อมกันทุกครอบครัวที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มลาวกลุ่มนี้ได้พร้อมกับลูกบ้านได้ตั้งชื่อหมู่บ้านของตนว่า “บ้านบุ่งคล้า” โดยได้เอานามบ้านเก่าบ้านหลังของพวกตน คือ บ้านบุ่งคล้า – นาโพธิ์ เมืองหนองบัวลำภู มาตั้งชื่อบ้านใหม่เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจไว้ว่า พวกตนนั้นได้ย้ายบ้านมาจากบ้านบุ่งคล้า – นาโพธิ์ และได้เรียกชื่อห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านนั้นว่า “ห้วยบุ่งคล้า”